Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST

12 ก.ย. 2562



   เคยสงสัยว่าทำไมการตรวจสุขภาพถึงต้องมีการวิ่งสายพาน วิ่งไปทำไม วิ่งแล้วดีอย่างไร ใครต้องตรวจบ้าง ผลการตรวจบอกอะไรเราบ้าง แล้วการวิ่งสายพานจำเป็นอย่างไร

การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย....เป็นอย่างไร

   การตรวจที่สามารถวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกาย ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือ มีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยการตอบสนองที่ผิดปกติจะบ่งชี้ว่ามีการขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจในระหว่างการออกกำลังกาย

ใครควรเข้ารับการตรวจ...!!

  • ผู้ที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อน โดยไม่ทราบสาเหตุว่ามาจากหัวใจ หรืออวัยวะอื่น เมื่อวิ่งสายพานแล้ว เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้น พร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงของกราฟหัวใจ การตรวจนี้จะช่วยบอกได้ว่าเกิดจากการตีบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือไม่
  • นักกีฬา การวิ่งสายพานจะช่วยให้เราทราบว่าควรจะออกกำลังกายได้มากน้อยแค่ไหน ระดับการเต้นสูงสุดของหัวใจเท่าไรจึงจะปลอดภัย
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ
  • มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่

เตรียมตัวง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก...!!

  • งดอาหารและเครื่องดื่มก่อนการทดสอบ 4 ชั่วโมง
  • ควรงดอาหารมัน
  • งดดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • หากมียาที่ทานอยู่เป็นประจำต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
  • สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและรองเท้าที่เหมาะกับการออกกำลังกาย

ขั้นตอนการตรวจง่ายๆ ...!!

  การวิ่งสายพาน เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บ แค่ต้องออกกำลังวิ่งบนลู่วิ่ง โดยมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ อยู่ด้วยตลอดเวลา การตรวจก็มีขั้นตอนดังนี้

  • เจ้าหน้าที่จะซักประวัติย่อของผู้เข้ารับการตรวจ โดยเน้นที่อาการปัจจุบันและประวัติคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ
  • เจ้าหน้าที่จะนำแผ่นขั้วไฟฟ้า (electrode) ที่มีสายไฟต่ออยู่มาติดที่หน้าอกของผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อส่งสัญญาณจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจไปยังเครื่อง โดยระหว่างการตรวจเจ้าหน้าที่จะเฝ้าสังเกตความดันโลหิตและคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดเวลาที่ตรวจ
  • เมื่อเริ่มขั้นตอนการออกกำลัง ผู้เข้ารับการตรวจจะเดินช้าๆ บนสายพานออกกำลัง โดยความเร็วและความชันของสายพานจะเพิ่มขึ้นทุกสามนาที เมื่ออัตราการเต้นของหัวใจถึงระดับที่ต้องการหรือผู้เข้ารับการตรวจไม่สามารถออกกำลังกายต่อได้แล้ว เจ้าหน้าที่จะหยุดสายพาน

ข้อควรระวัง...!!

ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีหากต้องการให้สายพานทำงานช้าลงหรือหยุด หรือเมื่อมีอาการต่อไปนี้

  • อาการแสบร้อน ปวด หรือแน่นหน้าอก
  • คลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย

ผลการตรวจบอกอะไร

  • ผลการทดสอบเป็น บวก หมายถึง น่าจะมีเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ ควรได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม เช่น การทำบอลลูนขยายหลอดเลือด การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ
  • ผลการทดสอบเป็น ลบ แสดงว่า น่าจะไม่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบแต่ไม่รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำต่อไป
  • ผลการทดสอบไม่ชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาส่งไปตรวจเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจโดยวิธีคอมพิวเตอร์ (CTA Coronary Artery)

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.อร่ามวงศ์  ทวีลาภ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.